ภาพกิจกรรม สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเพชรบูรณ์
 ภาพกิจกรรม  









เรื่อง >>  วันพุธที่ 2 ตุลาคม 2567 พิธีอุ้มพระดำน้ำ ประจำปี 2567

รายละเอียด >>  วันพุธที่ 2 ตุลาคม 2567 เวลา 10.09 น. นางสาวสุภาพันธุ์ ทองพยงค์ ศึกษาธิการจังหวัดเพชรบูรณ์ นำคณะข้าราชการ/บุคลากร ร่วม “พิธีอุ้มพระดำน้ำ ประจำปี 2567” โดยมี นายสันติ พร้อมพัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีอุ้มพระดำน้ำ ประจำปี 2567 พร้อมด้วย ดร.เสกสรร นิยมเพ็ง นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ หัวหน้าส่วนราชการ ประชาชน นักท่องเที่ยว เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ณ บริเวณท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ >>โดยพิธีเริ่มจากเวลา 09.39 น. นายชนก มากพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้อัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาจากวัดไตรภูมิ มาประดิษฐานบนเรือบริเวณท่าน้ำ และแห่องค์พระพุทธมหาธรรมราชาล่องทวนสายน้ำ ถึงท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมารในเวลา 10.09 น. เพื่อประกอบพิธี อุ้มพระดำน้ำ ที่ปฏิบัติสืบทอดมานาน และเชื่อกันว่าเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ อันจะนำความสุข ความสงบร่มเย็นมาสู่เมือง ส่งผลให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พืชผลการเกษตรอุดมสมบูรณ์ และทำให้ชาวเพชรบูรณ์มีความเจริญรุ่งเรือง โดยรักษาราชแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมด้วยกรมการเมืองทั้ง 4 คือ เวียง วัง คลัง และนา ได้ร่วมทำพิธีอุ้มพระดำน้ำ และเนื่องด้วย ในปี 2567 เป็นปีมหามงคล ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ 6 รอบ 72 พรรษา จังหวัดเพชรบูรณ์จึงจัดให้มีการประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำเป็นกรณีพิเศษ จากเดิม 6 ครั้ง เพิ่มเป็น 9 ครั้ง โดยจะทำพิธีอุ้มพระดำน้ำในทิศใต้ก่อนจำนวน 3 ครั้ง จากนั้นจะทำพิธีอุ้มพระตามทิศที่ได้เสี่ยงทายไว้อีก 6 ครั้ง คือ ครั้งแรกและครั้งที่สองจะอุ้มในทิศเหนือ ครั้งที่สาม ครั้งที่สี่ ครั้งที่ห้า จะอุ้มในทิศใต้ และ ครั้งที่หก จะอุ้มในทิศเหนือ ซึ่งภายหลังจากเสร็จพิธี รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ และผู้ร่วมประกอบพิธี ได้แจกจ่ายเครื่องบวงสรวง กระยาสารท ข้าวต้มลูกโยน กล้วย ที่ผ่านพิธีอันเป็นมงคล ทำให้เกิดปรากฏการร่มหงายประชาชนและนักท่องเที่ยวที่นำร่มมาบังแสงแดด ต่างหงายร่มเพื่อรับของมงคล นำกลับไปรับประทานเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง >>ประเพณีอุ้มพระดำน้ำมีตำนานที่ถูกเล่าขานมานานเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลกของจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมี ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้ออกหาปลาในแม่น้ำป่าสัก แต่อยู่มาวันหนึ่งเกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้น โดยกระแสน้ำในบริเวณวังมะขามแฟบ มีพรายน้ำผุดขึ้นมาทีละน้อยจนแลดูคล้ายน้ำเดือด จากนั้นกลายเป็นวังวนดูดเอาองค์พระพุทธรูปองค์หนึ่งลอยขึ้นมาเหนือน้ำ ทำให้ชาวประมงต้องลงไปอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่วัดไตรภูมิ แต่ในปีถัดมาตรงกับวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 วันประเพณีสารทไทย พระพุทธรูปดังกล่าวหายไป ชาวบ้านต่างพากันระงมหา สุดท้ายไปพบพระพุทธรูปกลางแม่น้ำป่าสัก บริเวณที่พบพระพุทธรูปองค์นี้ในครั้งแรกกำลังอยู่ในอาการดำผุดดำว่าย จึงได้ร่วมกันอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่วัดไตรภูมิ อีกครั้งหนึ่ง พร้อมร่วมกันถวายนามว่า "พระพุทธมหาธรรมราชา" หลังจากนั้นต่อมาในวันสารทไทย หรือวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 เจ้าเมืองเพชรบูรณ์จะทำพิธีอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา ลงประกอบพิธีดำน้ำเป็นประจำทุกๆปี โดยเชื่อว่าจะทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ไพร่ฟ้าประชาชนมีความสุข บ้านเมืองปราศจากจากโรคระบาดคุกคาม จนกลายมาเป็นประเพณีอุ้มพระดำน้ำอันยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน

 

   อ่าน 136 ครั้ง